สภาวิศวกรจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 มีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รวมทั้งพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รวมทั้งเสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดและการเลิกสาขาวิศวกรรมควบคุม และออกข้อบังคับสภาวิศวกรโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะสภานายกพิเศษ
ความเป็นมา
ในอดีตวิศวกรไทยได้รวมตัวกันภายใต้สถาบันวิชาชีพ คือ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 ต่อมารัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 ขึ้น เมื่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม มีการเปลี่ยนแปลง มีความต้องการวิศวกรมากขึ้น จึงมีการเร่งผลิตวิศวกร เป็นผลให้งานวิศวกรรมมีปัญหาเรื่องคุณภาพงาน จำเป็นต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกทางด้านจรรยาบรรณและมีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงหลายครั้งจนมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวิชาชีพวิศวกรรม อาทิ เหตุการณ์จากรถบรรทุกแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2532 ไฟไหม้โรงงาน อาคารถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทบวงมหาวิทยาลัยและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงได้มีการจัดสัมมนาระดมความคิดและได้ข้อสรุปในการจัดตั้ง “สภาวิศวกร” รวม 4 ประการ คือ
- ให้มีสภาวิชาชีพที่สามารถปกครอง ควบคุมและกำกับดูแลกันเอง สภาวิศวกรจึงต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก
- ให้มีความคล่องตัวในการบริหารงานโดยอิสระจึงต้องมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล
- ให้สภาวิศวกรมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการประกอบวิชาชีพอย่างต่อเนื่องทันต่อวิทยาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
- ให้มีการประกอบวิชาชีพด้วยมาตรฐานหนึ่งเดียวไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน และจะไม่มีการยกเว้นสำหรับคนต่างชาติ ต่อมาได้มีการร่างพระราชบัญญัติวิศวกรเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยคณะบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางวิศวกรรม จนในที่สุดพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 จึงได้เกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
องค์ประกอบของสภาวิศวกร
สมาชิกสภาวิศวกร
แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ ซึ่งสมาชิกเหล่านี้จะเป็นผู้อนุมัตินโยบายการบริหารงานของคณะกรรมการสภาวิศวกรในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
คณะกรรมการจรรยาบรรณ
มาจากการแต่งตั้งตามมติของที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร มีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
ผู้ตรวจสภาวิศวกร
ที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรแต่งตั้งจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอกมาจากการแต่งตั้งสมาชิกหรือบุคคลภายนอกตามมติของที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการสภาวิศวกรแล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร
คณะกรรมการสภาวิศวกร
จำนวน 20 คน มาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกสภาวิศวกร15 คน (เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ 10 คน เป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษา 5 คน) กรรมการสภาวิศวกรอีก 5 คนมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีจากการเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
คณะอนุกรรมการ
คณะทำงาน และผู้ชำนาญพิเศษมาจากการแต่งตั้งของที่ประชุมคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และผู้ชำนาญพิเศษมาจากการแต่งตั้งของที่ประชุมคณะกรรมการสภาวิศวกร มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการสภาวิศวกรกำหนด
สำนักงานสภาวิศวกร
สำนักงานสภาวิศวกรมีหัวหน้าสำนักงานสภาวิศวกรบริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของเลขาธิการสภาวิศวกร ประกอบด้วยงาน 8 ฝ่าย 1 สำนัก คือ ฝ่ายทะเบียนและใบอนุญาต ฝ่ายมาตรฐานการศึกษาและวิชาชีพ ฝ่ายการคลัง ฝ่ายสื่อสารองค์กร ฝ่ายบริหาร ฝ่ายอาคารสถานที่ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายต่างประเทศ และสำนักกฎหมายและจรรยาบรรณ