หน้าหลัก กิจกรรมเป็นข่าว อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 2 และประธานอนุกรรมการ TABEE เป็นผู้แทนสภาวิศวกรเข้าร่วมประชุม The International Engineering Alliance (IEA) Meeting 2024

อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 2 และประธานอนุกรรมการ TABEE เป็นผู้แทนสภาวิศวกรเข้าร่วมประชุม The International Engineering Alliance (IEA) Meeting 2024

รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 2 และรองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร ประธานอนุกรรมการ TABEE เป็นผู้แทนสภาวิศวกรเข้าร่วมประชุม The International Engineering Alliance (IEA) Meeting 2024 ระหว่างวันที่ 9-14 มิถุนายน 2567 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีผู้แทนเข้าร่วม จำนวน 106 คน จาก 30 ประเทศทั่วโลก โดยมีสาระสำคัญของการประชุมประกอบด้วย

  • การประชุมกลุ่มข้อตกลงด้านการศึกษา (Educational Accords) ประเทศสมาชิกมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอแผนและกรอบระยะเวลาในการนำคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของ IEA Graduate Attributes Professional Competences (GAPC) version 4.0 ปี 2021 มาปรับหลักเกณฑ์ด้านผลลัพธ์การศึกษาให้สอดคล้องกับประเทศตน โดยคำนึงถึงการจัดแนวทางการประเมินมาตรฐาน (alignment of standards) ทั้งด้านการศึกษาและด้านการประกอบวิชาชีพให้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ที่น่าสนใจประเทศจีนมีการนำเสนอการปฏิรูปการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ การเสริมจุดแข็งด้านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม การบูรณาการศาสตร์ด้านวิศวกรรมให้เข้ากับศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมถึงมีการฝึกอบรมและขึ้นทะเบียนผู้ตรวจประเมินไว้แล้วมากกว่า 1,000 คน

    สำหรับกิจกรรมความร่วมมือในปีนี้ ประเทศไทยและเกาหลีใต้จะมีการลงนามบันทึกความตกลง (MOU) โดยสภาวิศวกรเป็นองค์กรกลางเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ในการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนหลักสูตรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาภายใต้ข้อตกลง Washington Accord ตลอดจนโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน
  • การประชุมกลุ่มข้อตกลงด้านการประกอบวิชาชีพ (Competence Agreements) มีการหารือเรื่องการเสนอให้มีการปรับปรุงข้อกำหนดของข้อตกลงด้านวิชาชีพ (change the rules and guidelines of the Agreements) อาทิ ประเด็น mentoring rules และ review rules ประกอบกับมีการรายงานผลการจัดทำคู่มือสำหรับการตรวจประเมินประเทศสมาชิก (review manual) ที่ระบุประเด็นการทำงานของทีมตรวจประเมิน (review) ให้มีความชัดเจน ได้แก่ การใส่ข้อความความคิดเห็น การเตรียมการของผู้ตรวจประเมิน การตรวจเอกสารตัวอย่างคำขอของผู้ขึ้นทะเบียน จำนวน 12 แฟ้มประวัติ และทักษะของผู้ประเมิน เนื่องจากตามข้อตกลงระบุว่าประเทศสมาชิกจะต้องได้รับการตรวจประเมินทุก 2-6 ปี เพื่อตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินการที่เป็นไปตามข้อตกลง
  • สถานะและการดำเนินการต่อของสภาวิศวกร
    ปัจจุบันสภาวิศวกรมีสถานะสมาชิกข้อตกลงและการดำเนินการ ดังนี้

    ข้อตกลง Washington Accord เป็นสมาชิกระดับ Provisional member ซึ่งกรรมการบริหารข้อตกลงเห็นควรแต่งตั้งคณะผู้ตรวจประเมินจาก 3 ประเทศ มาตรวจประเมินกระบวนการพร้อมเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การตรวจเยี่ยมหลักสูตรของสภาวิศวกรในเดือนพฤศจิกายน 2567 และสภาวิศวกรจะได้รับการแจ้งผลการปรับสถานะสมาชิกในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2568 ต่อไป

    ข้อตกลง APEC Engineer Agreement เป็นสมาชิกระดับ Conditional member ซึ่งสภาวิศวกรจำเป็นต้องพัฒนาระบบการประเมินวิศวกรผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศให้มีความแข็งแกร่ง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของกระบวนได้มาซึ่งใบอนุญาตของวิศวกรไทยว่ามีคุณภาพและมาตรฐานทั้งคุณสมบัติด้านการศึกษาและทักษะความสามารถที่เทียบเคียงได้ตามเกณฑ์ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ยอมรับร่วมกัน